ปลอดภัย มีคุณภาพ ด้วยมาตรฐานเหล็ก

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมเหล็กรู้หรือไม่ว่า ในแต่ละปีประเทศไทยเรามีความต้องการใช้เหล็กในรูปแบบต่างๆปีละเท่าไร

คำตอบคือ ปีละ 16.7 ล้านตัน นี่เป็นตัวเลขล่าสุดในปี 2567 จากที่ก่อนหน้านี้ตัวเลขการใช้เลขของไทยเราสูงถึงปีละ 20 ล้านตัน

นั่นแสดงให้เห็นว่าเบื้องหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศอุตสาหกรรมเหล็กมีส่วนสำคัญอย่างมากในเกือบทุกอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า หรือ อุตสาหกรรมเกษตรต่างมีเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญ ด้วยความสำคัญเช่นนี้ การกำหนดมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้แน่ใจว่าเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่างๆ มีคุณภาพ ความแข็งแรง และความปลอดภัยเพียงพอ ตามที่กำหนด

มาตรฐานเหล็กเป็นข้อกำหนดทางเทคนิคที่ใช้ในการกำหนดคุณสมบัติของเหล็ก เช่น องค์ประกอบทางเคมี สมบัติเชิงกล วิธีการทดสอบ และการใช้งาน มาตรฐานเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นโดยองค์กรต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเพื่อให้การผลิตและการใช้งานเหล็กมีคุณภาพสม่ำเสมอและปลอดภัย

ปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่างๆ โดยแบ่งได้เป็น มาตรฐานสากล เช่น ASTM, ISO, EN, JIS เป็นต้น

ประเทศไทยมีการตราพรบ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมให้สินค้าอุปโภคบริโภคต้องเป็นไปตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 2 ประเภท ได้แก่ 1) มาตรฐานบังคับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมอก.ประเภทนี้จะต้องมีการขออนุญาตก่อนจึงจะสามารถผลิตหรือนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายได้ 2) มาตรฐานภาคสมัครใจ (มอก.ทั่วไป) สามารถผลิตหรือนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาต โดยสามารถตรวจสอบรายขื่อมาตรฐานบังคับได้ในเว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) https://www.tisi.go.th/website/standardlist/comp_thai/th

ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีมาตรฐานบังคับ เช่น มอก.1479-2558 เหล็กแผ่นรีดร้อนสำหรับงานทั่วไป (SS400), มอก.20-2559 เหล็กเส้นกลม, มอก.24-2559 เหล็กเส้นข้ออ้อย, มอก. 1227-2558 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (เหล็กรูปตัว I, H), มอก. 1228-2561 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดเย็น (เหล็กรางน้ำ, เหล็กตัว C) เป็นต้น สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กที่เป็นมาตรฐานทั่วไป เช่น มอก.107-2566 ท่อเหล็กสำหรับงานทั่วไป (ท่อกลม, เหล็กกล่อง) มอก.276-2562 ท่อเหล็กชนิดทนความดัน (ท่อเหล็กงานประปา) เป็นต้น

เหล็กแต่ละประเภทจะมีความเหมาะสมในการใช้งานแตกต่างกันออกไป ดังนั้นควรคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยในการใช้งานการเลือกใช้มาตรฐานเหล็ก เช่น งานโครงสร้างทั่วไปใช้มอก.1228, มอก.107 งานก่อสร้างใช้เหล็กเส้นตาม มอก.20 หรือ มอก.24 และ งานท่อและระบบน้ำใช้มอก.107, มอก.276 เป็นต้น

การใช้เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานมีผลต่อความแข็งแรงของงานก่อสร้าง มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายและสร้างผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เศรษฐกิจและสังคม

ดังนั้น เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพจึงควรเลือกใช้เหล็กที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เป็นสำคัญ และขอใบรับรองมาตรฐานจากผู้ผลิตทุกครั้ง

ที่มา : รวบรวมจาก www.astm.org , www.tisi.go.th