มิติสังคม

มิติสังคม

นโยบายและแนวปฏิบัติด้านสังคม

นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน (Corporate Social Responsibility)

บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ มีนโยบายดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมโดยยึดตามปรัชญาในการดำเนินธุรกิจและจริยธรรมธุรกิจซึ่งได้หล่อหลอมเป็นวิถีแห่งการผลักดัน ขับเคลื่อน พัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยถือมั่นเสมอมาว่าบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และการเปลี่ยนแปลงของสังคมย่อมกระทบต่อบริษัท จึงถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องร่วมกันพัฒนาทั้งธุรกิจของบริษัทและสังคมควบคู่กันไป โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคม รวมทั้งดูแลรักษา พัฒนา และอนุรักษ์สภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงานด้านสังคม

1. การวางแผนกำลังคน (Workforce Planning)
ในปี 2567 บริษัทมีการบริหารกลยุทธ์การวางแผนอัตรากำลัง และปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและหน้าที่ของหน่วยงานเพื่อให้รองรับการเติบโตของกลุ่มบริษัท รวมถึงมีการปรับปรุงกระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้บุคลากรที่สอดคล้องกับแผนการเติบโตทางธุรกิจ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทมีพนักงานรวม 1,218 คน เมื่อรวมกับบริษัทในกลุ่มเอสเอสไอมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 2,925 คน โดยเป็นพนักงานสัญชาติไทย ร้อยละ 99.69 ต่างชาติร้อยละ 0.31 นอกจากนี้ กลุ่มเอสเอสไอยังคงยึดมั่นในนโยบายการรับคนในท้องถิ่นเข้าทำงาน โดย ณ สิ้นปี 2567 จากจำนวนพนักงานบริษัทในกลุ่มที่ทำงานในโรงงานบางสะพานรวม 2,206 คน โดยในจำนวนนี้มีจำนวนพนักงานที่เป็นคนท้องถิ่นอำเภอบางสะพานรวม 1,201 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของพนักงานในโรงงานบางสะพานทั้งหมด

 การจ้างงานของกลุ่มเอสเอสไอ ปี 2567
กลุ่มพนักงานSSITCRSSWCEPPCรวม
จำนวนพนักงาน (คน)1,218853762922,925
พนักงานจ้างเหมา (คน)2321639911505
ค่าตอบแทนพนักงาน (ล้านบาท)846421276561,599

2. การพัฒนาศักยภาพบุคลากร (Employee Development)
บริษัทมีกระบวนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สอดรับกับตำแหน่งงานในแต่ละระดับที่สามารถสนับสนุนแผนการเติบโตทางธุรกิจ บริษัทมีนโยบายจัดการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องให้กับพนักงานทุกระดับ เพื่อพัฒนาพนักงานตามความสามารถ (Competency) ที่พนักงานจำเป็นต้องมีในการฝึกอบรมของพนักงาน (Training Need) และหลักสูตรตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ
     1. หลักสูตรด้านการจัดการ
     2. หลักสูตรด้านพฤติกรรมในการทำงาน
     3. หลักสูตรด้านเทคนิคในการทำงานเฉพาะ
     4. หลักสูตรด้านการเพิ่มผลผลิต
     5. หลักสูตรด้านคุณภาพ
     6. หลักสูตรด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ บริษัทได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรที่สำคัญเพิ่มเติม ได้แก่

     1. หลักสูตรด้านการพัฒนาความรู้และทักษะให้สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายธุรกิจ อาทิ Project Kaizen & Kaizen for Innovation
     2. หลักสูตรด้านเทคนิคในการทำงานเฉพาะ อาทิ หลักสูตรจรรยาวิชาชีพและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาสมรรถนะวิจัย การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำข้อเสนอโครงการฯ ตามมาตรการยกเว้นภาษี 200%
     3. หลักสูตรด้านการจัดการพลังงาน อาทิ Methods for Identifying Opportunities for Improvement (OFIs) and Energy Saving Measures (ESMs)

ในปี 2567 บริษัทได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมภายในให้กับพนักงาน จำนวน 124 หลักสูตร (194 ครั้ง) โดยมีจำนวนชั่วโมงอบรมหรือกิจกรรมพัฒนาความรู้เฉลี่ยของพนักงาน 30.47 ชั่วโมงต่อคนต่อปี จากเป้าหมาย 15 ชั่วโมงต่อคนต่อปี

นอกจากการจัดฝึกอบรมภายในบริษัท บริษัทได้ส่งเสริมพนักงานเข้ารับการฝึกอบรมภายนอกกับสถาบันต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ใหม่ๆ ให้พนักงานนำมาใช้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการจัดให้พนักงานไปศึกษาดูงานกับบริษัทชั้นนำที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานด้านต่างๆ ทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกันและต่างอุตสาหกรรม

3. การมุ่งเน้นการค่านิยม วัฒนธรรมองค์กร และสร้างความผูกพันในองค์กร (Embed Corporate Culture and Increase Employee Engagement) มุ่งเน้นการเสริมสร้างความผูกพันในองค์กรผ่านการนำเสนอ และจัดกิจกรรมให้พนักงานตระหนักถึงค่านิยมของบริษัท อันนำไปสู่วัฒนธรรมและพฤติกรรมในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพนปี 2567 ผลสำรวจระดับความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรเท่ากับร้อยละ 83.25 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 81.75

4. ความหลากหลายในบริษัท (Diversity and Equal Opportunity) บริษัทมีพนักงานที่มีความหลากหลาย ทั้งทางด้าน เชื้อชาติ เพศ และอายุ ความหลากหลายนี้ช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของผู้มีส่วนได้เสีย และลักษณะธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์ โดยบริษัทได้กำหนดคุณสมบัติในการสรรหาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมในการเติบโตในสายอาชีพอย่างเท่าเทียม

5. การดูแลพนักงาน (Employee Well-being) บริษัทมีคณะกรรมการสวัสดิการโดยสรรหาด้วยวิธีเลือกตั้งตัวแทน จากพนักงาน เพื่อให้สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียม ปัจจุบันมีพนักงานเข้าร่วมเป็นตัวแทนจำนวน 19 คน

6. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  

บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและพัฒนางานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งให้พนักงานเกิดความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการดูแลตนเองและเพื่อนร่วมงานให้ทำงานอย่างปลอดภัยไม่เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การรณรงค์ลดอุบัติเหตุจากการทำงาน (Zero  Accident Campaign) โครงการจิตอาสาสร้างวินัยและวัฒนธรรมความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม (BBS) การตรวจสอบพื้นที่การปฏิบัติงาน (Safety Patrol) การเฝ้าระวังสุขภาพพนักงานอันเนื่องจากการสัมผัสปัจจัยเสี่ยงจากการทำงาน โดยมีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน กำกับดูแล ตรวจสอบความปลอดภัย และเสนอแนะมาตรการ ในการปรับปรุงด้านความปลอดภัยในทุกพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนอย่างดีจากทุกหน่วยงาน

ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัท มีค่าอัตราความถี่การบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงานต่อหนึ่งล้านชั่วโมงการทำงาน (Loss-time Injury Frequency Rate: LTIFR) เท่ากับศูนย์รวมทั้งอุบัติเหตุจากการทำงาน โรคจากการทำงานและอุบัติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็น “ศูนย์” สามารถบรรลุเป้าหมายของบริษัทได้สำเร็จ และภาพรวมของกลุ่มเหล็กสหวิริยา มีค่า LTIFR อยู่ที่ศูย์ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วเดิมอยู่ที่ 0.82 ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทในกลุ่มเหล็กสหวิริยามุ่งมั่นในการรณรงค์ ส่งเสริมการลดอุบัติเหตุในการทำงาน การปลูกฝังให้พนักงานทุกคนมีความตระหนักด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างจริงจัง และได้ทำการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้มีความปลอดภัยมากขึ้น อย่างต่อเนื่องทำให้ค่าสถิติในภาพรวมของบริษัทในกลุ่มเหล็กสหวิริยาดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 

ค่าอัตราความถี่การบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงานต่อหนึ่งล้านชั่วโมงการทำงานกลุ่มเหล็กสหวิริยา
บริษัทพ.ศ.2563พ.ศ.2564พ.ศ.2565พ.ศ.2566พ.ศ.2567
SSI0.000.000.000.330.00
TCRSS0.000.493.521.490.00
WCE0.481.451.410.990.00
PPC0.003.583.610.000.00
SSI GROUP0.140.741.490.820.00

LTIFR = (จำนวนรายที่บาดเจ็บถึงขั้นหยุดงานหนึ่งวันขึ้นไป x 1,000,000) / ชั่วโมงการทำงานทั้งหมด
* ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567

7. การฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  

การฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นส่วนสำคัญในการลดอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยจากการทำงาน บริษัทได้มีพัฒนาการจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานทุกระดับได้เรียนรู้ถึงแหล่งอันตรายจากการปฎิบัติงานพร้อมแนวทางการป้องกันและควบคุมอันตราย ตั้งแต่พนักงานใหม่ พนักงานสับเปลี่ยน-โอนย้ายหน้าที่ พนักงานเลื่อนขั้น-เลื่อนตำแหน่งก่อนที่จะเริ่มงาน หลักสูตร On the Job Training สำหรับพนักงานบริษัท พนักงานรับเหมาช่วง และพนักงานในสัญญา กำหนดให้มีการบ่งชี้ความจำเป็นของการอบรมตามสภาพของตำแหน่งหน้าที่ และยังมีการจัดหลักสูตรอบรมเพิ่มเติมจากวิทยากรภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้พนักงานได้เกิดการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากสภาพแวดล้อมในบริษัท

ทั้งนี้ ยังมีการจัดกลุ่มประเภทหลักสูตรการฝึกอบรม (Training Matrix) ในแผนการฝึกอบรมประจำปี ตามมาตรฐานความปลอดภัยและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและกฎหมายความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการประเมินลักษณะกิจกรรม/งานและสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานของพนักงานโดยหน่วยงานต้นสังกัด และส่งข้อมูลให้หน่วยงาน ความปลอดภัยทบทวนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดสรรกลุ่มพนักงานที่มีความจำเป็นต้องอบรมใน หลักสูตรนั้นๆ และความเหมาะสมต่อการทบทวนตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ โดยในปี 2567 บริษัทมีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จำนวน 22 หลักสูตร โดยการจัดอบรมทั้งหมด 51 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนมาตรฐานการทำงานของทุกกิจกรรม เพื่อให้มั่นใจว่ามีความทันสมัย ควบคุมอันตรายได้ และผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติได้จริงตามที่กำหนดไว้

8. การป้องกันอัคคีภัยและกู้ภัยฉุกเฉิน   

บริษัท มีการบริหารจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมในการตอบสนองเหตุฉุกเฉิน และมีกรมธรรม์ที่มีคุ้มครองครอบคลุมภัยธรรมชาติในเรื่องอุทกภัย พายุลมแรง สึนามิ ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม เพื่อลดความเสียหาย โดยจะครอบคลุมความเสียหายในด้านทรัพย์สิน การหยุดชะงักทางธุรกิจ   ความเสียหายของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าว และกรมธรรม์ยังได้คุ้มครองครอบคลุมความเสียหาย อันเนื่องจากอัคคีภัยที่เกิดขึ้นในทุกกรณีด้วยเช่นกัน 

ในปี 2567 บริษัทได้จัดฝึกซ้อมสถานการณ์จำลองการตอบสนองเหตุฉุกเฉินในแต่ละพื้นที่ทั้งหมด 24 ครั้ง มีพนักงานในบริษัทได้รับการฝึกอบรมดับเพลิงขั้นต้นตามกฎหมายเท่ากับร้อยละ 90.45

นอกจากนั้นยังได้ส่งพนักงานที่ได้รับมอบหมายเป็นทีมดับเพลิงของโรงงาน เข้ารับการฝึกอบรมดับเพลิงขั้นเทคนิค การฝึกอบรมดับเพลิงขั้นสูง และการสั่งการดับเพลิง อีกทั้ง มีการตรวจสอบสภาพพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุฉุกเฉินและการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ระงับเหตุฉุกเฉินเป็นประจำเพื่อให้มั่นใจว่าระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยที่ออกแบบติดตั้งไว้มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งาน โดยในปี 2567 ไม่มีอุบัติเหตุไฟไหม้ ซึ่งพนักงานประจำพื้นที่ยังคงมีความพร้อมในการตอบโต้เหตุฉุกเฉินพร้อมปฏิบัติการตามแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยของบริษัท และยังคงเข้มงวดในการเฝ้าระวังเตรียมความพร้อมในการตอบโต้เหตุฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง

9. การค้าด้วยความเป็นธรรม  

บริษัทตระหนักถึงการปฏิบัติต่อคู่แข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม โดยปฏิบัติตามข้อกฎหมายของภาครัฐ เช่น พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ 2542 ประกอบกับบริษัทจะไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม และไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางร้าย รวมถึงร่วมกันดำเนินการผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมร่วมกัน

นอกจากนี้ บริษัทได้ร่วมเป็นแกนนำของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย โดยผู้บริหารของบริษัท ผู้บริหารของคู่แข่งทางการค้า และผู้บริหารของคู่ค้าได้เข้าร่วมเป็นกรรมการ โดยจัดประชุม และมีกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ มีการพบปะสังสรรค์กับผู้บริหารของคู่แข่งทางการค้า เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อีกทั้งบริษัทยังได้เป็นแกนนำในการสร้างความร่วมมือกันของกลุ่มสมาคมผู้ผลิตเหล็กในประเทศรวม 10 สมาคม ซึ่งมีสมาชิกรวมกัน 516 บริษัท ปริมาณการจ้างงานทางตรงรวมกว่า 51,000 อัตรา เพื่อสร้างความเข้มแข็งของผู้ผลิตเหล็กในประเทศ โดยการร่วม ส่งเสริม และผลักดันนโยบายการค้าและการแข่งขันที่เป็นธรรม ผ่านหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการที่สำคัญเช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือมาตรการตอบโต้การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการที่ช่วยปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการระงับ หรือลดการส่งเสริมการลงทุน หรือห้ามตั้ง และขยายโรงงานในอุตสาหกรรมเหล็กที่มีปัญหากำลังการผลิตมากเกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศ

10. การดำเนินงานกิจกรรมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน  

บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาชุมชนและสังคมตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน (ESG) มาบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมร่วมกับชุมชนและสังคม เพื่อให้เกิดความสมดุล เกิดคุณค่าร่วมและประโยชน์กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน คือ การพัฒนาสังคม การร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2567 บริษัทได้ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนและสังคมจำนวน 23 โครงการ อาทิ

    – การพัฒนาสังคม: 1) โครงการเดิน-วิ่งการกุศลฅนเหล็กมินิมาราธอน 2) โครงการทวิภาคีพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมเหล็ก 3)  โครงการมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนในชุมชน 4) โครงการพัฒนาทักษะวิทยาการคำนวณเยาวชนบางสะพาน (Coding) 5) โครงการเอสเอสไออาสา

   – การร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ:  1) โครงการศูนย์ขยายโอกาสทางธุรกิจ 2) โครงการจัดซื้อสินค้าชุมชนและสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3) โครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน 4) โครงการฝึกอบรมความปลอดภัยให้แก่ชุมชนท่องเที่ยวบางสะพาน

   – การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม: 1) โครงการพัฒนาเครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอบางสะพาน 2) โครงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติหาดแม่รำพึง 3) โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้และจัดการขยะในชุมชน 4) โครงการพัฒนาบางสะพานชุมชนคาร์บอนต่ำ