แรงงานในอุตสาหกรรมเหล็กกับผลกระทบจากเศรษฐกิจ-เทคโนโลยี-โลกสีเขียว

อุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในภาคการผลิตที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเหล็กเป็นวัสดุพื้นฐานที่ใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ก่อสร้าง ยานยนต์ พลังงาน และการผลิตเครื่องจักรกล ดังนั้น แรงงานในอุตสาหกรรมเหล็กจึงมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก

การจ้างงานและผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับประเทศ

อุตสาหกรรมเหล็กจ้างงานเกิน 6 ล้านคนทั่วโลก(worldsteel.org) ตั้งแต่แรงงานในภาคการผลิต วิศวกร ไปจนถึงแรงงานในภาคโลจิสติกส์และการจัดจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เหมืองแร่เหล็ก การขนส่ง และอุตสาหกรรมแปรรูปที่ต้องพึ่งพาเหล็ก การเติบโตของอุตสาหกรรมเหล็กมักส่งผลให้เกิดการจ้างงานในภาคส่วนอื่น เช่น การก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ประเทศที่เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ เช่น จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มักมีอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก เพราะนอกจากรายได้จากการส่งออกเหล็กมีผลโดยตรงต่อดุลการค้าและเศรษฐกิจของประเทศผู้ผลิต ยังส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน และอาคาร

สำหรับประเทศเทศไทย นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าอุตสาหกรรมเหล็กของไทยที่มีโรงงานในประเทศไทยทั้งหมดมีการจ้างงานโดยตรงเนี่ยรวมกันราว 50,000 คน และหากรวมถึงพนักงานที่อยู่ในสายการผลิต หรือซัพพลายเชน และพนักงานจ้างเหมาด้วย รวมอีกประมาณ 200,000 – 300,000 คน เพราะฉะนั้นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจ้างงานที่สําคัญของไทย

ผลกระทบหลักจากการเปลี่ยนแปลงของโลก

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กและแรงงานในอุตสาหกรรมกำลังเผชิญความท้าทายที่สำคัญและต้องปรับตัว ประกอบด้วย

1) เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการเหล็กจากอุตสาหกรรมก่อสร้างและยานยนต์ลดลง ส่งผลให้โรงงานเหล็กหลายแห่งต้องลดกำลังการผลิตหรือปิดตัวลง ซึ่งกระทบต่อการจ้างงาน การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็กในตลาดโลกส่งผลต่อรายได้ของแรงงานในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพาการผลิตเหล็กเป็นหลัก ในขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น การตั้งกำแพงภาษีและโควตานำเข้า ส่งผลให้เกิดการลดการผลิตและเลิกจ้างแรงงานในบางประเทศ

“ส่วนของประเทศไทย เรามีความเป็นห่วงแรงงานมากขึ้นจากปัญหาการปิดโรงงาน ขณะนี้อุตสาหกรรมเหล็กประเทศไทยเราใช้การผลิตเพียงแค่ 28-29% ซึ่งหากในมุมของผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้อาจมองว่ามีการจ้างแรงงานเกินกว่ากว่าเป็นจริงประมาณ 60-70% ซึ่งขณะนี้หลายโรงงานพยายามสู้ต่อเพื่อจะรักษาการจ้างงานคนอีก 60-70% หรือสู้ต่อไปไม่ไหวแล้วรัฐบาลไม่ช่วยเหลือหรือช่วยช้าจะกระทบถึงการเลิกจ้างถึง 200,000 คน” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุ

2) เทคโนโลยีและการนำระบบอัตโนมัติ (Automation) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในกระบวนการผลิตเหล็กช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ในขณะเดียวกันก็ลดความต้องการแรงงานในบางตำแหน่ง แรงงานในอุตสาหกรรมเหล็กจำเป็นต้องพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี เช่น การควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติและการใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูล
3) การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียว นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเหล็ก โดยมีความพยายามลดการปล่อยคาร์บอนและเพิ่มการใช้เหล็กรีไซเคิล โรงงานที่ปรับตัวไม่ทันกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอาจเผชิญกับค่าปรับหรือข้อจำกัดในการส่งออก ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงาน ในขณะเดียวกัน มีการสร้างงานใหม่ ๆ ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเหล็กคาร์บอนต่ำ เช่น การพัฒนาเหล็กไฮโดรเจน (Hydrogen Steel) และการรีไซเคิลเหล็ก

สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับแรงงานในอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของแรงงานใน 4 ด้านเพื่อรับมือ 1) การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะของพนักงาน เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ 2) ต้องให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัย เพื่อปกป้องสุขภาพและชีวิตของพนักงาน 3) การส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ วัฒนธรรม และความคิดในสถานที่ทำงาน ช่วยเพิ่มนวัตกรรมและประสิทธิภาพในการทำงาน และ4) ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ แรงงานเหล็กต้องปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

รูปแบบการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กนี้กำลังเปลี่ยนแปลง แรงงานจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงได้