บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ ”เอสเอสไอ” ร่วมกับศูนย์วิจัยนวัตกรรมการผลิตและรีไซเคิลโลหะ สาขาวิชาวิศวกรรมโลหการ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและกองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยนำกรดเกลือเสื่อมสภาพของเอสเอสไอ มาผลิตเป็นเหล็กออกไซด์(เฮมาไทต์) ซึ่งใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตสีป้องกันสนิม ภายใต้ “โครงการส่งเสริมและต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิล เพื่อพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และพิษณุโลก” ด้วยการนำของเสียที่ยังมีศักยภาพไปทดลองเทคโนโลยีรีไซเคิลในห้องปฎิบัติการและนำกลับมาพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อใช้เป็นทรัพยากรทดแทนให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ
สำหรับคณะทีมวิจัย นำโดยผศ.ดร. สงบ คำค้อ ที่ปรึกษาโครงการฯ ลงพื้นที่ศึกษาความเป็นได้ของเสีย(กรดเกลือ) พร้อมเก็บตัวอย่างกรดเกลือเสื่อมสภาพของโรงงานเอสเอสไอไปทำการวิเคราะห์และศึกษาทดลองในห้องปฎิบัติการ จากผลการวิจัยพบว่า กรดเกลือเสื่อมสภาพของโรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนเอสเอสไอ สามารถผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กออกไซด์(เฮมาไทต์-FE2O3) ที่มีความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 97 โดยผลิตภัณฑ์เฮมาไทต์นี้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสีป้องกันสนิม นับว่าเป็นการนำเทคโนโลยีรีไซเคิลมาต่อยอดพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน ลดการกำจัดของเสียให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) พร้อมทั้งส่งเสริมด้านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้กับองค์กรและชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29-30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา กองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับศูนย์วิจัยนวัตกรรมการผลิตและรีไซเคิลโลหะ สาขาวิชาวิศวกรรมโลหการ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้นำผลงานวิจัยดังกล่าวไปเผยแพร่ในงานสัมมนาและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีรีไซเคิล ในโครงการส่งเสริมและต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิล เพื่อพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และพิษณุโลก ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี
ผศ.ดร.สงบ คำค้อ ที่ปรึกษาโครงการฯ เปิดเผยว่า “ของเสียประเภทกรดเกลือเสื่อมสภาพ ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการกัดกรดที่ผิวเหล็กแผ่นรีดร้อนมีเหล็กเป็นองค์ประกอบอยู่ประมาณ 233 กรัมต่อลิตร นำมาผลิตเป็นเฮมาไทต์ เป็นการกู้ศักยภาพของเหล็กมาใช้ประโยชน์ นอกจากจะทำให้ไม่ต้องเสียค่ากำจัดของเสีย เฮมาไทด์ที่ได้สามารถนำไปจำหน่ายได้อีกด้วยโดยการนำไปเป็นผงสีเพื่อผลิตสีทากันสนิม และมีความเป็นไปได้ ในการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพราะปัจจุบันผงสีที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสีกันสนิมนั้น ประเทศไทยนำเข้ามาจากต่างประเทศ 100 % และยังไม่มีการดำเนินธุรกิจหรือการผลิตในประเทศไทย นอกจากนี้ผงสีดังกล่าวยังใช้ในอุตสาหกรรมหมึกและอุตสาหกรรมพลาสติกได้ด้วย ทีมคณะวิจัยฯ ขอขอบคุณเอสเอสไอ ที่ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลและวัตถุดิบในการศึกษาทดลองครั้งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ร่วมกันส่งเสริม Circular Economy และ Zero Waste Society ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตเหล็กอีกด้วย”