บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2558
• ปริมาณขายเหล็กรวม 871 พันตัน
• รายได้จากการขายและให้บริการรวม 11,867 ล้านบาท
• ขาดทุนสุทธิ (งบเดี่ยว) 222 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ (งบรวม) 3,236 ล้านบาท
• มี EBITDA (งบเดี่ยว) 334 ล้านบาท EBITDA กลุ่ม (งบรวม) ติดลบ 1,777 ล้านบาท
บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2558 ดังนี้
งบการเงินเฉพาะบริษัท – บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 5,252 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 39 จากงวดเดียวกันปีก่อน) โดยมีปริมาณขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน 307 พันตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากไตรมาสก่อน) โดยเป็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (Premium Value Products: PVPs) ร้อยละ 44 ของปริมาณขายรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนการขาย PVPs สูงสุดเท่าที่เคยมีมา มี EBITDA 334 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 222 ล้านบาท (โดยผลประกอบการดีขึ้นจากขาดทุนสุทธิ 865 ล้านบาทในไตรมาสก่อน แต่ลดลงจากกำไรสุทธิ 27 ล้านบาทในงวดเดียวกันปีก่อน)
งบการเงินรวม – บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 11,867 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน จากยอดขายของธุรกิจโรงถลุงเหล็กให้แก่บุคคลภายนอกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 34 จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายของธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนที่ลดลงร้อยละ 39 จากงวดเดียวกันปีก่อน และยอดขายของธุรกิจโรงถลุงเหล็กให้แก่บุคคลภายนอกที่ลดลงร้อยละ 30 จากงวดเดียวกันปีก่อน) Group EBITDA ติดลบ 1,777 ล้านบาท มีผลขาดทุนสุทธิ 3,236 ล้านบาท (ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากผลขาดทุนสุทธิ 3,026 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน และจากผลขาดทุนสุทธิ 1,406 ล้านบาทจากงวดเดียวกันปีก่อน)
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2558 ของบริษัทย่อยและกิจการที่ควบคุมร่วมกัน มีดังต่อไปนี้
• ธุรกิจโรงถลุงเหล็ก มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 7,780 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 12 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 31 จากงวดเดียวกันปีก่อน) EBITDA ติดลบ 2,177 ล้านบาท (ติดลบเพิ่มขึ้นจาก EBITDA ติดลบ 1,252 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน และจาก EBITDA ติดลบ 531 ล้านบาทจากงวดเดียวกันปีก่อน) มีผลขาดทุนสุทธิ 3,045 ล้านบาท (ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากขาดทุนสุทธิ 2,073 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน และจากขาดทุนสุทธิ 1,347 ล้านบาทจากงวดเดียวกันปีก่อน)
• ธุรกิจท่าเรือ มีรายได้จากการให้บริการรวม 67 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากงวดเดียวกันปีก่อน) มีกำไรสุทธิ 20 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 106 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 212 จากงวดเดียวกันปีก่อน)
• ธุรกิจวิศวกรรม มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 167 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 27 จากงวดเดียวกันของปีก่อน) เป็นรายได้นอกกลุ่มร้อยละ 70 และมีผลกำไรสุทธิ 1 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 115 จากไตรมาสก่อน และผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 102 จากงวดเดียวกันปีก่อน)
• ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดเย็น มีรายได้จากการขายรวม 2,807 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 11 จากงวดเดียวกันปีก่อน) มีผลกำไรสุทธิ 61 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 278 และร้อยละ 966 จากงวดเดียวกันปีก่อน)
นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสเอสไอ กล่าวว่า “แม้ว่า EBITDA ในไตรมาส 2/2558 ติดลบเช่นเดียวกันกับไตรมาส 1/2558 แต่เรื่องราวแตกต่างกันมาก มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนในไตรมาสที่ 2 นั่นคือปริมาณขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เป็น 307 พันตัน ยอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (Premium Value Products: PVPs) บรรลุสัดส่วนการขายสูงสุดร้อยละ 44 และ EBITDA พลิกกลับมาจากติดลบ 38.6 เหรียญสหรัฐต่อตันเป็นบวก 32.4 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากการที่เราได้ใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนสูง (จากไตรมาสแรก) ไปเกือบทั้งหมด และเริ่มที่จะใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนถูกลง ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ เราคาดว่าจะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและผลตอบแทนในการทำกำไร”
“สำหรับสภาวะตลาดของธุรกิจโรงถลุงเหล็กยังคงมีความท้าทายอย่างมาก ปริมาณการส่งออกเหล็กของจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปัญหากำลังการผลิตที่ล้นเกินความต้องการอย่างรุนแรง การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และระบบคืนภาษีส่งออกที่บิดเบือน ได้สร้างปัญหากับอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลก และกดดันอัตรากำไรให้ตกต่ำลงทุกที่ ส่วนต่างราคาได้ลดลงมากกว่าค่าใช้จ่ายที่เราลดลงมาได้อย่างมีนัยสำคัญ ฉะนั้นเรายังคงต้องฝ่าฟันความท้าทายเหล่านี้ไปอีกช่วงหนึ่ง”
“แม้ว่าอุตสาหกรรมเหล็กยังคงอยู่ในความปั่นป่วน เราจะไม่ละความพยายาม เราเชื่อว่าการที่เรามุ่งเน้นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าและส่วนต่างราคาที่ดีกว่า รวมทั้งมุ่งเน้นการบูรณาการธุรกิจต่าง ๆ และสินทรัพย์ในการผลิตของเรา เพื่อให้มีการประหยัดจากขนาดและต้นทุนที่ต่ำกว่าจะทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้น นี่คือวัตถุประสงค์ของเราและเรายังคงมุ่งมั่นดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของเราต่อไป” นายวินกล่าว